
ไม่ควรปล่อยให้เด็กและวัยรุ่นเข้าถึงกัญชา ไม่ว่าจะด้วยการสูบ เคี้ยว หรือผสมกินในอาหารหรือเครื่องดื่มก็ตาม
เพราะสารในกัญชาอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทและสมองของเด็กและวัยรุ่นได้
นายแพทย์ธนกร กาญจนประดับ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ และ แพทย์หญิงกรกมล โหรสกุล กุมารแพทย์โรคระบบประสาท โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ ระบุถึงผลกระทบของกัญชาที่มีต่อการทำงานของระบบประสาทและสมองของเด็กและวัยรุ่นเอาไว้ ดังนี้
กัญชา ส่งผลกระทบต่อสมองเด็ก-วัยรุ่น อย่างไรบ้าง
เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรเข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ การบริโภคกัญชามีผลต่อสมองของเด็ก และอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานของสมองที่กำลังพัฒนา
ในกัญชา มีสาร THC (Tetrahydrocannabinol) มีผลกระทบต่อสมองของเด็กและวัยรุ่น เช่น
พัฒนาการล่าช้า
ปัญหาพฤติกรรม
เชาวน์ปัญญาลดลง
เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเภท
เสี่ยงต่อภาวะฆ่าตัวตาย
เสี่ยงต่อการเกิดสารเสพติดชนิดอื่นๆ
ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ผลข้างเคียงที่อันตรายของกัญชา

นอกจากส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทและสมองแล้ว กัญชายังอาจส่งผลข้างเคียงที่อันตรายต่อใครก็ตามที่สูบหรือกินได้ เช่น
อาการทางระบบประสาท: สับสน ซึม เวียนศีรษะ เดินเซ เห็นภาพหลอน ชัก กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก
อาการทางระบบหัวใจ: ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง หน้ามืด/วูบ แน่นหน้าอก หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
อาการทางระบบทางเดินอาหาร: คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน
ข้อควรระวังในการกินอาหารใส่กัญชาในเด็กและวัยรุ่น
แม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่อนุญาตให้เด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีบริโภคกัญชาได้ แต่ควรระมัดระวังอาหารที่อาจมีกัญชาแฝงโดยไม่รู้ตัว เช่น ขนมต่างๆ คุกกี้ บราวนี่ เยลลี่ หรือในเครื่องดื่มต่างๆ
ผู้ใหญ่ควรระมัดระวัง ควรเก็บอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาให้พ้นมือเด็ก
ผู้หญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคกัญชา เนื่องจากสามารถถ่ายทอดผ่านทารกในครรภ์ และผ่านทางน้ำนมแม่ได้